~ไอคิว 150 ของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ - 1001~


ถ้าพูดถึงความฉลาดของคอมพิวเตอร์ คุณจะนึกถึงอะไร?

คุณอาจจะนึกถึงสิริที่ตอบโต้กับคุณในไอโฟน หรืออาจจะนึกถึงลูกเจี๊ยบผู้น่าสงสาร ตัวเป็นสีเหลืองแต่ถูกป้ายสีให้กลายเป็นสีแดงบ้าง หลากสีบ้าง ทำให้ลูกเจี๊ยบนาม SimSimi กลายเป็นที่สะท้อนความแตกต่างในความคิดของคนไทย

หรือคุณอาจจะนึกถึงโปรแกรมง่าย ๆ อย่างไมโครซอฟต์เอ็กเซล ที่คำนวณตัวเลขจำนวนมากได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ หรือไมโครซอฟต์เวิร์ดที่ช่วยคุณตรวจคำผิดได้อย่างง่ายดาย

ความฉลาดเป็นคำที่ทุกคนเข้าใจความหมายเป็นอย่างดี แต่หากจะถามให้ลึกลงไปว่า อะไรบ้างที่เรียกได้ว่าเป็นความฉลาด คงต้องใช้พื้นที่คอลัมน์ 1001 เถียงกันไม่จบสิ้น

หลายคนวัดความฉลาดผ่านการทดสอบไอคิว ซึ่งค่าเฉลี่ยมาตรฐานจะอยู่ที่ 100 (การวัดไอคิวมีหลายแบบ แต่ละแบบก็แตกต่างกันไป) ซึ่งส่วนใหญ่การทดสอบไอคิวนี้จะทดสอบในสองรูปแบบด้วยกัน คือ การค้นหารูปแบบที่ซ่อนอยู่ในรูปภาพ และการค้นหารูปแบบที่ซ่อนอยู่ในลำดับของตัวเลข

เรามาลองดูตัวอย่างคำถามที่เป็นลำดับของตัวเลขกันไหมครับ ว่ายากขนาดไหน ถ้าพร้อมแล้วลองเติมคำตอบต่อไปนี้กันดูครับ

1, 2, 4, 8, 16, … (32)

1, 2, 4, 6, 8, … (10)

1, 1, 2, 3, 5, … (8)

1, 5, 9, 13, … (15)

แล้วถ้าเป็นลำดับแบบนี้ ผลลัพธ์จะเป็นเท่าไรครับ?

0, 2, 6, 5, 7, 21, 20, 22, 66, …

คำตอบ คือ 65 ซึ่งลำดับนี้เกิดจากการนำ 2 ไปบวกกับตัวเลขตัวแรกได้ผลลัพธ์เท่าไร เป็นตัวเลขตัวถัดไป จากนั้นให้นำ 3 เข้ามาคูณ จะให้ผลลัพธ์เป็นตัวเลขตัวถัดไป จากนั้นให้ลบด้วย 1 ก็จะเป็นตัวเลขตัวถัดไป แล้วจึงเริ่มวนกลับมาที่การบวกด้วย 2 คูณด้วย 3 ลบด้วย 1 ไปเรื่อย ๆ

เห็นไหมครับ คุณอาจจะรู้สึกว่า โจทย์คำถามบางข้อ มันไม่หมูเลย แล้วถ้าเป็นการโยนโจทย์แบบนี้ไปให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์นั่งคำนวณ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

คำตอบคือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกสร้างเพื่อจุดมุ่งหมายนี้ สามารถทำคะแนนได้ใกล้เคียงกับคะแนนเฉลี่ยของมนุษย์ เพราะว่ามันถูกเขียนขึ้นบนพื้นฐานความรู้ของมนุษย์
เช่น ต้องหาว่า รูปแบบของตัวเลขอยู่ในลำดับแบบใด เช่น การบวก ลบ คูณ หารยกกำลัง ด้วยตัวเลขซ้ำ ๆ หรือหาสมการอื่นที่ซับซ้อนไปกว่านี้

แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งโกเธนเบิร์ก (University of Gothenburg) ได้ทดลองนำแนวคิดทางด้านจิตวิทยาผสมผสานเข้าไปกับแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในแนวทางที่คนอื่นเคยทำกันอยู่ ผลปรากฏว่า โปรแกรมที่ทำขึ้นนี้ สามารถตอบคำถามในแบบทดสอบวัดไอคิวที่เป็นการหาคำตอบในลำดับตัวเลขได้คะแนนถึง 150 คะแนน ซึ่งจัดว่าอยู่ในกลุ่มท็อป 4% ของมนุษย์ได้

ถึงแม้ความฉลาดของมนุษย์จะเป็นพหุปัญญา (เช่น ด้านภาษา ตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ มิติสัมพันธ์ ดนตรี เป็นต้น) ก็ตาม แต่ทุกวันนี้ความฉลาดของคอมพิว
เตอร์ในแต่ละด้านก็เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา ทั้งในแง่ของวิธีการสร้างความฉลาดเฉพาะในแต่ละด้านที่เริ่มซับซ้อนขึ้น คอมพิวเตอร์เริ่มแต่งเพลงได้ ตอบคำถามทดสอบไอคิวแบบในบทความนี้ เข้าใจคำถามที่เป็นภาษามนุษย์ และตอบได้อย่างถูกต้อง ประกอบกับความเร็วในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ก็มากขึ้นไม่แพ้กัน

หลายคนคิดว่า ในอีกไม่นาน... เราอาจจะได้เห็นคอมพิวเตอร์ที่ฉลาดสุด ๆรู้รอบ ตอบได้ทุกคำถามที่เราอยากรู้ มีความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศ และอื่น ๆ อีกมากมาย

“ด้วยความสามารถทั้งหมดนี้ คุณคิดว่า...คำว่า อีกไม่นาน มันจะมาถึงภายในกี่ปีครับ?”.

สุกรี สินธุภิญโญ (sukree.s@chula.ac.th)
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]
http://www.facebook.com/1001FanPage

ขอบคุณ เดลินิวส์

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


Basic

สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
เว็บไซต์แผนก