รู้เขารู้เราสู่ประชาคมอาเซียน


“สลามัต” คำทักทายสวัสดีของชาวมาเลเซีย รอยยิ้มของคนในภูมิภาคอาเซียนยังคงไม่เคยจางหายกับกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนอาเซียนของประเทศไทยในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กระทรวงวัฒนธรรมพาเข้าไปทัศนศึกษาในประเทศมาเลเซียเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตามโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้านให้แก่เยาวชนเพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมและวัฒนธรรมอาเซียนปี 2558 จากนั้นน้อง ๆเหล่านี้จะเขียนบทความถ่ายทอดความประทับใจให้ได้อ่านกันอีกครั้ง


ก่อนอื่นต้องมาเรียนรู้ข้อมูลพื้นฐานประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียกันก่อน มาเลเซีย ประกอบด้วยพื้นที่  2 ส่วน ส่วนแรก คือ มาเลเซียตะวันตก อยู่ทางตอนใต้ของคาบสมุทรมลายูและคาบสมุทรอินโดจีน มีพรมแดนติดประเทศไทยทางรัฐกลันตัน เประ ปะลิส และเกดะห์ และติดกับสิงคโปร์ทางรัฐยะโฮร์ ส่วนที่ 2 คือ มาเลเซียตะวันออก อยู่ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว มีพรมแดนทิศใต้ติดอินโดนีเซีย ส่วนตอนบนจะติดกับประเทศบรูไนดารุสซาลาม มาเลเซียแบ่งการปกครองออกเป็น 13 รัฐ และ 3 ดินแดน ได้แก่ มาเลเซียตะวันตก (คาบสมุทรมลายู) ประกอบด้วย กลันตัน (โกตาบารู) เกดะห์ (ไทรบุรี) (อลอร์สตาร์) ตรังกานู (กัวลาตรังกานู) เนกรีเซมบีลัน (สเรมบัน) ปะหัง (กวนตัน) ปะลิส (กังการ์) ปีนัง (จอร์จทาวน์) เประ (อีโปห์) มะละกา  ยะโฮร์ (ยะโฮร์บาห์รู) สลังงอร์ (ชาห์อาลัม) มาเลเซียตะวันออก (เกาะบอร์เนียวตอนเหนือ) ประกอบด้วย ซาบาห์ (โกตากินะบะลู) ซาราวัก (กูชิง) ดินแดนสหพันธ์ ประกอบด้วย มาเลเซียตะวันตก ได้แก่ กัวลาลัมเปอร์  ปุตราจายา มาเลเซียตะวันออก มีดินแดนลาบวน (วิกตอเรีย)ประเทศมาเลเซีย มีสภาพคล้ายคลึงกับประเทศอินโดนีเซีย ชึ่งเป็นหมู่เกาะได้รับอิทธิพลของศาสนาอิสลามที่แพร่เข้ามาในแหลมมลายู ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 55 นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 25 นับถือศาสนาคริสต์ร้อยละ 13 นับถือศาสนาฮินดูร้อยละ 7 และลัทธิศาสนาพื้นเมืองร้อยละ 4

ได้เรียนรู้ข้อมูลพื้นฐานของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียกันพอหอมปากหอมคอกันแล้ว ต่อจากนี้ไปเราจะพาทุกท่านเข้าไปท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวมาเลเซียกันกับกลุ่มน้อง ๆ เยาวชนอาเซียน เริ่มกันที่ ปุตราจายา ทำไมถึงพามาเมืองนี้ก่อน เพราะเขาบอกว่า ที่นี่คือเมืองใหม่ในอนาคตของมาเลเซีย ที่นี่มีการสร้างศูนย์ราชการขนาดใหญ่มากมาย

มีการวางผังเมืองอย่างสวยงามเป็นระบบ มีรัฐสภาที่สง่างามแสดงถึงเอกลักษณ์ของชาวมุสลิม ซึ่งคนที่นี่จะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จึงทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพและ
 เกิดการพัฒนาบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง จะทำให้น้อง ๆ เยาวชนของไทย มีแรงบันดาลใจที่อยากจะพัฒนาบ้านเมืองของไทยให้เจริญรุดหน้าเทียบเท่าเพื่อนบ้าน

ไม่เพียงเท่านั้น น้อง ๆ เยาวชนอาเซียนยังได้ไปชมตึกแฝดปิโตรนาส และการพัฒนากรุงกัวลาลัมเปอร์ สนามเอกราช ตึกสุลตาลอับดุลซามัส หรือศาลากลางของมาเลเซีย ที่สำคัญยังได้ชมพิพิธภัณฑ์ข้าวเกี่ยวกับการผลิตข้าว ซึ่งได้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการทำนา ชีวิตชาวนาและเทคโนโลยีกับการผลิตข้าว เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

“น้องกาย” ธีรชัย สุขะปณะ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5 รร.สงขลาวิทยาคม จังหวัดสงขลา เล่าถึงความประทับใจที่ได้เข้าค่ายเยาวชนอาเซียนให้ฟังว่า ได้มาเห็นบ้านเมืองของมาเลเซีย เห็นความเจริญก้าวหน้าของเขา ซึ่งการพัฒนาของเขามีมากกว่าเรามาก เนื่องจากคนของเขาเคารพกฎหมายบ้านเมือง และที่สำคัญคนมาเลเซียมีหลากหลายเชื้อชาติทำให้มีภาษาที่หลากหลายและคนมาเลเซียยังพูดภาษาอังกฤษได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นจุดเด่นที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้นเมื่อมาเห็นแล้วก็อยากที่จะพัฒนาภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น หรือจะต้องเรียนรู้ภาษาราชการของประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ด้วย

ส่วน “น้องกง” สิทธิชัย แก้วตุ้น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5 รร.เกาะแต้ววิทยาสรรค์ จังหวัดสงขลา บอกว่า การมาเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศมาเลเซีย ทำให้เราได้เห็นการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เราไปบอกกับเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ได้ว่า บ้านเมืองเขาเป็นเช่นไร แล้วเราต้องเตรียมพร้อมอะไรในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งต้องยอมรับว่า เด็กและเยาวชนของเรายังไม่ค่อยพร้อมเท่าใดนัก โดยเฉพาะเรื่องภาษาจะต้องเร่งพัฒนาให้มากขึ้น รวมทั้งเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อที่เราจะไม่ไปดูถูกว่าเขาด้อยกว่าเรา บางครั้งบางเรื่องเขาก็ดีกว่าเราด้วยซ้ำไป เป็นการรู้เขารู้เรา จะทำให้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของเราเกิดประโยชน์

ขณะที่ นายศวกร เขมะไชยเวช หรือน้องมะขาม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 รร.วรนารีเฉลิม  จังหวัดสงขลา มองว่า บ้านเขาพัฒนากว่าเรา เนื่องจากการจัดการชัดเจนในการคิดการทำ ถ้าไทยทำจริง ๆ ก็จะทำได้อย่างมาเลเซีย ที่สำคัญเด็กรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ภาษาต่าง ๆ มากขึ้น เพราะภาษาใช้แลกเปลี่ยนติดต่อสื่อสารกัน เป็นสิ่งที่ใช้สื่อกันได้มากที่สุด ส่วนตนสามารถพูดมลายูกลางได้ รวมทั้งภาษาสเปน และอังกฤษ จึงทำให้มีเพื่อนหลายเชื้อชาติ ซึ่งจะได้เปรียบกว่าคนอื่น ทั้งนี้ตนเห็นว่าการจัดค่ายเยาวชนอาเซียนเป็นกิจกรรมที่ควรสนับสนุนและพัฒนาโครงการให้ขยายไปสู่เด็กทั่วทุกภูมิภาค เพื่อ
 ให้เด็กไทยตื่นตัวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคต

การก้าวสู่ประชาคมอาเซียนของไทย เราอาจจะมองว่าได้เตรียมใจแล้ว แต่เรายังไม่ได้เตรียมตัว ตรงข้ามกับเพื่อนบ้านของเราที่ทั้งเตรียมตัวและเตรียมใจก้าวข้ามความเป็นประชาคมอาเซียนไปสู่การเป็นสากล

กันแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บอกว่า นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมต้องการให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558  โดยการจัดค่ายเยาวชนครั้งที่ 2 ถือว่ามีความพิเศษ เพราะมีการคัดเลือกเด็กและเยาวชนในพื้นที่  5 จังหวัดภาคใต้มาเข้าร่วมโครงการ และมีการนำมิติทางวัฒนธรรมด้านวรรณศิลป์มาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมอาเซียนด้วย

“เด็ก ๆ จะได้ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านวรรณศิลป์ เช่น การจัดทำบทวรรณกรรมทั้งของไทยและมาเลเซีย การเขียนความเรียง ซึ่งเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการแล้ว เด็ก ๆ เหล่านี้จะสามารถนำการเรียนรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมภาคสนามไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงาน หรือสร้างอาชีพให้ตนเอง มีภูมิคุ้มกันต่อแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นจากปัญหาชายแดนภาคใต้ และพร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างภาคภูมิใจ” ปลัด วธ. กล่าว

ในอดีตประเทศในกลุ่มอาเซียนอาจจะต้องวิ่งตามประเทศไทย แต่จากนี้ไปประเทศไทย คนไทยจะต้องเหนื่อยเพราะต้องวิ่งไล่ตามประเทศเพื่อนบ้านของเรา เพราะคำว่า เสือกระดาษยังมีอยู่ในระบบบริหารราชการแผ่นดิน และระบบการเมืองก็ยังไม่เป็นเอกภาพเช่นนี้ ปี 2558 คิดว่าประเทศไทยก็คงยังไม่พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะมีแต่คำพูดแต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมให้เห็นเลย จะกลับตัวตอนนี้แม้จะยังไม่สายแต่จะก้าวทันเขาหรือไม่ ลองคิดดูกัน.

มนตรี ประทุม  เดลินิวส์

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


Basic

สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
เว็บไซต์แผนก