ก้าวต่อ “3จี ทีโอที” ขยับสู่ “4จี แอลทีอี













หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้ประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์เพื่อให้บริการ 3จี เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 55 ส่งผลให้บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ที่เปิดให้บริการ 3จีบนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าราว 2 แสนราย ต้องวางแผนขยับการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่สู่ระบบ 4จี เพื่อโอกาสในการทำตลาด

   
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 23–28 ต.ค. 55 คณะผู้บริหารของ ทีโอที นำโดย ดร.มนต์ชัย หนูสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่  ในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปดูการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเทคโนโลยี 3จี และ 4จี หรือ แอลทีอี (Long Term Evolution : LTE) ของบริษัท ซอฟท์แบงก์ โมบาย คอร์ป พร้อมทั้งรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาโครงข่ายการให้บริการ 3จี และ 4จี ของบริษัท โนเกีย ซีเมนส์ เน็ตเวิร์คส ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
   
ดร.มนต์ชัย กล่าวว่า การมาดูงานที่บริษัท ซอฟท์แบงก์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งระบบ 3จี และ 4จี ของประเทศญี่ปุ่น และมีผู้ใช้งานมากเป็นอันดับ 3 รองจาก เอ็นทีที โดโคโม และ เคดีดีไอ โดยล่าสุดซอฟท์แบงก์ คอร์ป ซื้อหุ้น 70% ใน “สปรินท์ เน็กซ์เทล” บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับ 3 ของอเมริกา ส่งผลให้ซอฟท์แบงก์มีลูกค้าที่ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งในญี่ปุ่นและอเมริกาประมาณ 90 ล้านคน ซึ่งการมาดูงานครั้งนี้เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการและนำไปปรับใช้กับการบริหารโครงข่ายของทีโอที เนื่องจากทีโอทีมีคลื่นความถี่และโครงข่ายจำนวนมาก รวมทั้งทีโอทีกับซอฟท์แบงก์ยังจะมีความร่วมมือทางวิชาการในการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน ซึ่งอนาคตอาจได้เป็นพันธมิตรในการทำธุรกิจร่วมกัน คาดว่าปีหน้าจะได้เห็นความร่วมมือระหว่างทีโอทีและซอฟท์แบงก์ที่ชัดเจน
   
“วันนี้ทีโอทีต้องเดินหน้าเรื่องการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างจริงจัง โดยมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบ 3จี ที่เปิดให้บริการบนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เป็นการให้บริการระบบ 4จี ซึ่งเป็นการทำเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทีโอทีเฟสสองภายใต้งบลงทุน 30,000 ล้านบาท หรือในชื่อเดิมคือการลงทุนขยายโครงข่าย 3จี เฟสสอง ซึ่งวันนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นการทำเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทีโอทีเฟสสอง และเป็นไปในแนวทางเดียวกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของญี่ปุ่นที่ให้บริการระบบ 4จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ก่อนที่จะขยับการให้บริการไปสู่คลื่นอื่น ๆ”
   
ดร.มนต์ชัย กล่าวว่า หากทีโอทีทำระบบ 4จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ จะทำให้มีอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานมาก และใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการข้ามไปทำ 4จี บนคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิรตซ์ ที่ทีโอทีมีช่วงคลื่นอยู่ 64 เมกะเฮิรตซ์ และยังสามารถเลือกให้บริการ 4จี เฉพาะพื้นที่ที่มีการใช้งาน 3จี ที่หนาแน่นได้
   
ส่วนโนเกีย ซีเมนส์ฯ ถือได้ว่าเป็นผู้จัดหาเน็ตเวิร์กเพียงรายเดียวที่จัดหาเน็ตเวิร์กให้ทั้ง 3 ค่ายผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของญี่ปุ่น และถือได้ว่าเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์สำหรับเทคโนโลยี 4จี รายใหญ่ของเอเชีย รวมทั้งเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์โครงข่ายให้กับทีโอที และซอฟท์แบงก์
   
“การที่ทีโอทีจะก้าวสู่การให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4จี นอกจากเรื่องคลื่นความถี่แล้วทีโอทียังต้องดูเรื่องของอุปกรณ์ด้วย เนื่องจากยังไม่มีประเทศไหนใช้คลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิรตซ์ในการให้บริการ 4จี และหากทีโอทีให้บริการ 4จี อย่างน้อยก็ตั้งเป้าที่จะมีลูกค้ามาใช้บริการราว 10 ล้านคน เพิ่มจากบริการ 3จี ที่มีอยู่ขณะนี้ 2 แสนราย” ดร.มนต์ชัย กล่าว

“รมว.ไอซีที” ขานรับขยับ 3จี ทีโอที สู่ 4จี
   
ระหว่างที่ผู้บริหารทีโอทีเดินทางมาดูการให้บริการระบบ 4จีที่ประเทศญี่ปุ่น น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งกำกับดูแลทีโอที ได้เดินทางมาสมทบเพื่อดูงานการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4จี ด้วย
   
น.อ.อนุดิษฐ์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการพัฒนาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จีของทีโอที สู่ระบบ 4จี ว่า วันนี้เราจะไม่พูดเรื่องการทำ “3จี เฟสสอง” แต่จะพูดเรื่อง “การทำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทีโอทีในเฟสที่สอง” เนื่องจากมีแนวคิดที่จะให้ทีโอทีทำระบบ 4จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ส่วนการให้บริการ 4จี บนคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิรตซ์เป็นเรื่องในอนาคต และการเปิดให้ประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์เพื่อให้บริการ 3จี ของ กสทช. ส่งผลให้มีเอกชน 3 บริษัทได้เข้ามาทำ 3จี จึงถือว่าเป็นโอกาสของทีโอทีที่จะต้องพัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคใช้งานได้อย่างเต็มที่
   
ส่วนเรื่องการปรับคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ทีโอที น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า เนื่องจากบอร์ดทีโอทีชุดแรกได้ทำงานลุล่วงตามวัตถุประสงค์แล้ว โดยการปรับบอร์ดครั้งนี้เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการขับเคลื่อนการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทีโอทีเฟสสอง รวมทั้งการเดินหน้าธุรกิจบรอดแบนด์ (อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง) และการให้บริการโทรศัพท์ประจำที่ ดังนั้นจึงต้องการบอร์ดที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนแผนธุรกิจให้บรรลุตามวัตถุประสงค์
   
ขณะที่การหาพันธมิตรในการร่วมลงทุนทำธุรกิจเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่กับทีโอที น.อ.อนุดิษฐ์ มองว่าจะเป็นพันธมิตรจากต่างประเทศหรือในประเทศก็ได้ เพราะผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยก็มีพันธมิตรเป็นต่างชาติ และการที่ทีโอทีจะมีพันธมิตรเป็นต่างชาติก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้
   
เตรียมพบกับก้าวสำคัญด้านสื่อสารโทรคมนาคมของ “ทีโอที” ได้เร็วๆ นี้.

น้ำเพชร จันทา
@phetchan

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


Basic

สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
เว็บไซต์แผนก