อาหาร 8 ชนิดที่เราอาจไม่ได้กินอีกต่อไป

อาหาร 8 ชนิดที่เราอาจไม่ได้กินอีกต่อไป

 

เรียบเรียง : กรวิกา วีระพันธ์เทพา / ภาพ : gettyimages

ใครคิดว่าสภาพอากาศของโลกเราเปลี่ยนไปแล้วบ้าง?

หากใครต้องการข้อพิสูจน์ “อาหารและเครื่องดื่ม” จานโปรดของใครหลายคนอาจเป็นหลักฐานได้อย่างดี เพราะอุณหภูมิที่เปลี่ยนไป ฝนที่ตกแบบไม่มีฤดูกาล และภาวะแห้งแล้งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ กำลังส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำผึ้ง กาแฟ ช็อกโกแลต และเบอร์เบิ้น ฯลฯ ... แค่นี้ก็อาจทำให้หลายคนเริ่มตระหนักถึงปัญหาสภาพดินฟ้าอากาศกันแล้วก็เป็นได้

ขนมปัง
ภาวะขาดแคลนขนมปังเริ่มกลายเป็นความจริงที่น่าตกใจ ตั้งแต่ปีที่แล้ว ราคาของธัญพืชทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว เนื่องจากความร้อน ความแห้งแล้ง และไฟป่าในรัสเซีย รวมทั้งอุทกภัยที่ออสเตรเลียด้วย ผลผลิตข้าวสาลีที่เสียหายเมื่อปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญของการปฏิวัติ “อาหรับสปริง” (ประชาชนประท้วงรัฐบาลที่ปล่อยให้ข้าวยากหมากแพง และขนมปังก็เป็นอาหารหลักของชาวอาหรับ) ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผลกระทบของสภาวะอากาศต่อผลผลิตทั่วโลกถือว่าเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น อีก 20 ปีข้างหน้า ราคาขนมปังจะเพิ่มขึ้นถึง 90% และเพื่อเตรียมการต่อภาวะข้าวสาลีขาดตลาด บริษัทใหญ่อย่าง Glencore และ Cargrill จึงได้ตั้งเป้าผูกขาดตลาด เพื่อทำกำไรสูงสุดหากปริมาณข้าวสาลีทั่วโลกยังลดลงต่อเนื่อง

ช็อกโกแลต
สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่เพียงแต่ทำให้น้ำแข็งเท่านั้นที่ละลาย ช็อกโกแลตที่รักของหลายๆ คนก็เช่นกัน อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 3 องศาก็ส่งผลให้เมล็ดโกโก้ในกานาและไอเวอรี่โคสต์ลดลงอย่างฮวบฮาบ ปรากฏการณ์นี้ส่งผลอย่างมากต่อประเทศแถบแอฟริกาซึ่งทำรายได้จากการขายโกโก้ (ขายดีขนาดเปรียบเปรยกันว่า ชาวบ้านสามารถเก็บเมล็ดโกโก้จากต้นแล้วไปแลกเป็นเงินสดได้ทันที) แต่โชคยังดีที่แม้วัตถุดิบช็อกโกแลตจะลดลง แต่มันก็ยังไม่หายไปเสียทีเดียว กลุ่มประเทศที่ปลูกต้นโกโก้อาจต้องย้ายพื้นที่เพาะปลูกไปยังที่เหมาะสมกว่า สภาพอากาศเย็นกว่า ประมาณ 200 ไมล์จากชายฝั่ง และหากมองในแง่ดี ผลผลิตโกโก้ที่ลดลงอาจทำให้คุณภาพช็อกโกแลตดีขึ้นก็ได้


กาแฟ

ถือเป็นอาหารที่หายากไปเรียบร้อยแล้วสำหรับกาแฟ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ วงจรฝนที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบกับทุกภูมิภาคที่ปลูกกาแฟ เช่น บราซิล เวียดนาม แอฟริกา สิ่งยืนยันว่าผลผลิตกาแฟลดลงเห็นได้จากราคากาแฟที่สูงขึ้นอย่างมาก ระหว่างปี 2010 ถึง 2011 ผู้ผลิตกาแฟในสหรัฐอเมริกาอย่าง Maxwell House และ Folgers ขึ้นราคากาแฟถึง 25%

เบอร์เบิ้น
การผลิตเบอร์เบิ้นในมลรัฐเคนตักกี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศตามฤดูกาล สภาพอากาศและอุณหภูมิของโลกเปลี่ยนไป ส่งผลต่อรสชาติและสีสันของเบอร์เบิ้น เป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้จากรูปแบบฤดูกาล และตามที่คาดการณ์ไว้ว่าใน 100 ปีข้างหน้า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้น 3 องศา ก็อาจทำให้มลรัฐเคนตักกี้ไม่สามารถผลิตเบอร์เบิ้นได้อีกเลย

น้ำผึ้ง
หนึ่งในตัวบ่งชี้ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็คือการตายของผึ้งเป็นจำนวนมาก และแน่นอนจำนวนผึ้งที่ลดลงย่อมทำให้สิ่งที่ผึ้งเท่านั้นผลิตได้อย่าง “น้ำผึ้ง” ลดลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม ของหวานชนิดนี้ไม่ได้หายไปเสียทีเดียว เพราะผึ้งถือเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่ปรับตัวกับโรคภัยไข้เจ็บได้ดี  เพราะฉะนั้น มันอาจจะปรับตัวกับอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนไปได้

ถั่วลิสง
ดูเหมือนว่าการผลิตถั่วลิสงจะได้ประโยชน์จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพราะถั่วลิสงออกผลผลิตดีขึ้นเมื่อมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น แต่ทว่าในฤดูร้อนที่แห้งแล้งก็ทำให้ผลผลิตถั่วลดลงไปมาก การขาดแคลนถั่วลิสงยังหมายถึงเนยถั่วที่ลดลงด้วย ราคาเนยถั่วได้พุ่งสูงขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว แต่อย่างที่บอกว่าถั่วลิสงออกผลผลิตได้ดีในที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูง จึงคาดการณ์กันว่าจะกลับมาเพาะปลูกได้อีกในปีหน้าที่อากาศเริ่มเย็นลง

อากาเว่
อากาเว่เป็นอาหารให้คาร์โบไฮเดรตตัวหลักของชาวเม็กซิกัน และเป็นวัตถุดิบผลิตเตกีล่าด้วย แต่ด้วยความแห้งแล้งในภาคเหนือของเม็กซิโกทำให้การทำเกษตรทุกประเภทได้รับผลกระทบ และรัฐบาลก็ถูกกดดันจากอเมริกาและยุโรปให้ปลูกข้าวโพดเพื่อผลิตเอทานอลแทน นั่นอาจหมายถึงเราจะมีเอทานอลเพิ่มขึ้นขณะที่เตกีล่าน้อยลง

ไวน์
อากาศที่ร้อนขึ้นในพื้นที่ปลูกองุ่นของแคลิฟอร์เนียอาจทำให้ปริมาณองุ่นลดลงถึง 50% จากที่เคยผลิตได้ในปี 2004 และพื้นที่อื่นๆ ของประเทศก็กำลังพบเจอกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นเช่นกัน การผลิตไวน์อาจจะต้องย้ายที่ เมืองฟิงเกอร์เลคที่ชานเมืองนิวยอร์กและพูเก็ตซาวนด์ในรัฐวอชิงตันอาจจะกลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกไวน์แห่งใหม่ก็เป็นได้

เรียบเรียงจาก : www.good.is

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


krujaja

สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
สามัญสัมพันธ์