สำรวจตลาดระบบนำทางไทย โอกาสเทคโนโลยีจราจรอัจฉริยะ

สำรวจตลาดระบบนำทางไทย โอกาสเทคโนโลยีจราจรอัจฉริยะ

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2556 เวลา 00:00 น.

คือครั้งแรกของประเทศไทย... ที่มีการสำรวจตลาดระบบนำทาง หรือที่คนส่วนใหญ่มักจะเรียกว่า “จีพีเอส” ตามชื่อเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา

“ดร.ภาสกร ประถมบุตร” ผู้อำนวยการโปรแกรมวิจัยนวัตกรรมและบริการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายกสมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย (ไอทีเอส) บอกว่า ปัญหาจราจรกลายเป็นปัญหาสำคัญของเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไข

และไอทีเอส (ITS) หรือระบบจราจรอัจฉริยะ ก็เป็นแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาจราจร ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำไปใช้งานทั้งในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ รวมถึงแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ

แม้ว่าระบบดังกล่าวจะมีการนำมาใช้งานอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย แต่ยังขาดการสำรวจมูลค่าตลาดอย่างจริงจัง

สมาคมไอทีเอสไทย จึงร่วมมือกับ ฝ่ายวิจัยนโยบาย สวทช. สำรวจตลาดระบบไอทีเอส ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคให้เข้าใจสภาพตลาดและใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการทำวิจัยในอนาคต

ทั้งนี้ทีมวิจัยเลือกระบบนำทางซึ่งเป็นระบบไอทีเอส ที่ใกล้ตัวผู้บริโภคและมีจำหน่ายในท้องตลาดทั้งแบบที่ติดมากับรถ (OEM) และที่ผู้บริโภคติดตั้งภายหลัง (After-market) รวมถึงระบบนำทางแบบพกพา (PND) และโมบายแอพพลิเคชั่น ( Mobile Application)

จากการศึกษาข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการรายหลักและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ

สรุปภาพรวมตลาดอุปกรณ์และระบบนำทางไทย ในปี 2555 ว่า มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 305,380 เครื่อง หรือคิดเป็นมูลค่า 3,541.2 ล้านบาท

โดยตลาดอุปกรณ์และระบบนำทางแบบพกพา มีปริมาณการขายสูงสุด ส่วนอุปกรณ์และระบบนำทางสำหรับติดฝังในรถยนต์เป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงสุด เนื่องจากมีราคาเฉลี่ยต่อเครื่องสูงกว่าแบบพกพามาก

สำหรับในปี 2556 นี้ คาดว่าตลาดดังกล่าวจะมีปริมาณยอดขายรวม 378,082 เครื่อง เติบโตจากปี 2555 ประมาณ 23.8% ส่วนด้านมูลค่าเติบโต 19.5% หรือ ประมาณ 4,231.3 ล้านบาท โดยตลาดอุปกรณ์และระบบนำทางแบบพกพา ยังคงครองแชมป์อัตราการเติบโตของยอดขายสูงสุด แต่อัตราการเติบโตด้านมูลค่าลดลงเนื่องจากตัวเครื่องมีราคาถูกลง
ดร.ภาสกร บอกอีกว่า การเติบโตของตลาดอุปกรณ์และระบบนำทาง หรือพีเอ็นดีนั้น เป็นผลมาจากแนวโน้มราคาอุปกรณ์ที่ปรับลงทุกปีทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้ง่าย ประกอบกับปัญหาการจราจรที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้โครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลยังมีผลต่อการเติบโตของตลาดอุปกรณ์นำทางไม่มากนัก เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่จะติดตั้งในรถยนต์ที่มีระดับราคาสูง ซึ่งไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของโครงการรถยนต์คันแรก

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยลบบางประการที่ทำให้ตลาดไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ เช่น พฤติกรรมของผู้ขับขี่เองที่นิยมเดินทางในเส้นทางที่คุ้นเคยมากกว่าการใช้อุปกรณ์นำทาง และผู้ที่เริ่มทดลองใช้อุปกรณ์นำทางมักเลือกดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นฟรี หรือซื้ออุปกรณ์ราคาถูก ประสิทธิภาพน้อย ทำให้ไม่เกิดความประทับใจในการใช้งาน

สำหรับแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทต่อการใช้งานอุปกรณ์และระบบนำทางที่น่าสนใจ ผู้วิจัยบอกว่าเริ่มมีการใช้งานระบบข้อมูลและความบันเทิงในรถยนต์มากขึ้น มีการพัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมฟังก์ชั่นการทำงานของสมาร์ทโฟนกับหน้าจอแสดงผลในรถยนต์ การใช้เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายระยะสั้นและระบบสั่งการผ่านเครื่องนำทางในรถยนต์ เช่น การสั่งอาหาร หรือชำระเงินผ่านบัตรเครดิตได้ที่หน้าจอเครื่องนำทาง

การสำรวจตลาดระบบนำทางครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญในวงการไอทีเอส ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงสภาพความเป็นไปของตลาด และส่งสัญญาณให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครวมทั้งภาครัฐ ได้ตระหนักถึงโอกาสทางธุรกิจและแนวโน้มการพัฒนาของเทคโนโลยีดังกล่าว.

ขอขอบคุณที่มาจาก :  http://www.dailynews.co.th/technology/207821

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


krusiriwan

สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์