วิธีเอาชนะความเครียดในที่ทำงาน

ความเครียด
เอาชนะความเครียดในที่ทำงาน (247 Free Magazine)


          ใครไม่อยากเป็น Office Syndrome ต้องรู้จักวิธีการบริหารจัดการความเครียดในที่ทำงาน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาดูกันว่าคุณสามารถเอาชนะความเครียดที่มักตอแยและระรานคุณในที่ทำงานได้อย่างไร

ดื่มน้ำอุ่น

          เข้าใจว่าอยู่ในเมืองร้อน แต่ไหน ๆ ก็ลองหัดดื่มน้ำอุ่นกันดูบ้าง เพราะมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ทั้งการช่วยขับสารพิษที่สะสมในร่างกาย อันจะเป็นเหตุให้เกิดการปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดหัว เจ็บตามส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญ น้ำอุ่นยังช่วยระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญ สำหรับคุณสาว ๆ การดื่มน้ำอุ่นช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น ลดรอยเหี่ยวย่นอีกต่างหาก จะมัวแต่หวังพึ่งครีมราคาแพงก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากเท่ากับการดูแลสุขภาพจากภายใน

กรี๊ดได้ก็กรี๊ด

          เมื่อเกิดความเครียดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความเครียดสะสมจากการไม่ถูกชะตากับเพื่อนร่วมงานที่ต้องนั่งเผชิญหน้ากันทุกวัน หรือเป็นความเครียดแบบปัจจุบันทันด่วน เพราะไม่สบอารมณ์ที่บริษัทเพิ่งติดประกาศว่าไม่มีนโยบายขึ้นเงินเดือนให้ในปีหน้า หรือเครียดหนักเมื่ออินเทอร์เน็ตที่ออฟฟิศล่มมาครึ่งค่อนวัน ทำให้ทำงานส่งลูกค้าไม่ทัน ก็จงอย่าอัดอั้น หัดพูดออกมาดัง ๆ บ้าง เพื่อเป็นการระบาย การกรี๊ดหรือร้องตะโกนในห้องน้ำ (ช่วงปลอดคน) จะทำให้คุณรู้สึกโล่งขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ยืดเส้นยืดสาย

ยืดเส้นยืดสาย

          การยืดกล้ามเนื้อแบบง่าย ๆ ที่โต๊ะทำงานก็ช่วยให้ร่างกายเราผ่อนคลายได้ เช่น การหมุนคอ การยักไหล่หมุนไหล่ การไขว้และบิดแขน เป็นต้น การเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ย่อมดีกว่าการนั่งหลังขดหลังแข็งเป็นเวลานาน

          อ้อ! ที่สำคัญ สำหรับสาว ๆ ทั้งหลายไม่ควรนั่งไขว่ห้างทำงานนาน ๆ เข้าใจว่าเป็นท่านั่งที่สวยและอาจจะเคยชิน แต่การไขว่ห้างเป็นท่านั่งที่ต้องเทน้ำหนักไปด้านใดด้านหนึ่งซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ๆ ดังนั้นระหว่างที่นั่งไขว่ห้าง เส้นเลือดใหญ่ที่ต้นขาทั้งสองจะถูกแรงของขาทั้งสองข้างบีบเอาไว้ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เพราะต้องสูบฉีดเลือดให้ร่างกายลำเลียงไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ให้ทั่วถึง

วางท่วงท่าให้เหมาะสม

          ควรวางแขนขนานราบกับพื้น แป้นพิมพ์อยู่ในระดับต่ำกว่าข้อศอกเล็กน้อย ทำให้ไม่รู้สึกเมื่อย นั่งหลังตรง หน้าจออยู่ระดับสายตา หรือต่ำกว่าระดับสายตา 10-20 องศา ทำให้ไม่เงยหน้าหรือก้มหน้าจนเกินไป ที่สำคัญอย่านั่งไหล่ห่อ หลังค่อม เพราะนอกจากจะเสียบุคลิกภาพแล้วยังจะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้

ละสายตาจากหน้าจอคอมฯ

          ทุก ๆ 20 นาที ควรคลายกล้ามเนื้อสายตาด้วยการมองไกล ๆ ราว 20 วินาที และเวลาที่ใช้คอมพิวเตอร์เราจะกะพริบตาน้อยลงกว่าปกติ 5 เท่า ทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ ทางแก้คือการใช้น้ำตาเทียม นอกจากนี้การหลับตาเพียง 5-10 วินาที ก็นับเป็นการพักระหว่างการทำงานที่ดี

คอมพิวเตอร์

ปิดคอมฯ เมื่อไม่ใช้งาน

          ควรปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊กทุกครั้งที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อลดระยะเวลาในการรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และความเครียด

อย่ากินจุบจิบ

          อย่าให้การทำงานในออฟฟิศที่้ต้องนั่งจมจ่อมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์กลายเป็นเครื่องสังหารที่ทำให้คุณอ้วนเบอะบะโดยไม่รู้ตัว ด้วยการทานนั่นทานนี่ตลอดทั้งวัน โปรดบอกลาลูกอม และขนมหวานต่าง ๆ เสียตั้งแต่วันนี้ หรือหากอยากกินของหวานแก้เครียด ขอแนะนำว่า แทนที่จะซัดของหวานชามโต ก็เปลี่ยนมาเป็นละเลียดไอศกรีมถ้วยเล็ก ๆ จะดีกว่า

ออกไปเดินเล่นบ้าง

          การได้ออกไปสูดอากาศในตอนกลางวันเพียงไม่กี่นาที ก็สามารถช่วยลดความเครียด หรือความวิตกกังวลได้ แทนที่จะอุดอู้อยู่กับห้องแอร์ทั้งวัน

ท่องเที่ยว

ใช้สิทธิ์พักร้อนให้เต็มที่

          คำว่า Vacation ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้เฉพาะในพจนานุกรม หรือเขียนไว้ในระเบียบข้อบังคับของบริษัทเท่านั้น กรุณานำมาใช้ในชีวิตจริงด้วย อย่าบ้างานจนปล่อยให้ร่างกายและจิตใจทรุดโทรม แล้วอ้างว่าไม่มีเวลาชาร์จแบตฯ เพราะคุณประโยชน์ของการพักร้อน คือ การที่คุณจะได้พักผ่อนจริง ๆ เป็นการหลีกหนีจากงานชั่วขณะ เพื่อเติมพลังชีวิตให้สามารถกลับมาสะสางภาระหน้าที่ต่าง ๆ ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          ที่สำคัญ เพื่อให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พึงระลึกไว้เสมอว่า 'Work Smarter, Not Harder'เพราะหมดยุคหมดสมัยที่จะมาตรากตรำทำงานหนักกันแล้ว ยุคนี้เป็นโอกาสของคนที่รู้จักหาหนทางในการทำงานอย่างชาญฉลาดต่างหาก ทงานหนักใช่ว่าจะทำให้ได้ผลงานที่ดี แต่ทำงานอย่างฉลาดต่างหากที่จะให้ผลงานที่น่าชื่นชม

ขอบคุณที่มา จาก ;  http://health.kapook.com/view61994.html

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


krusiriwan

สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์