แผนการจัดการเรียนรู้ /โครงการสอน
แผนการจัดการเรียนรู้ที่ ๑
รหัสวิชา ๒๐๐๐-๑๑๐๒ วิชา ภาษาไทยเพื่ออาชีพ ๒
หน่วยที่ - ชั่วโมงที่ ๑ – ๒ ชื่อหน่วย ปฐมนิเทศ
แนวคิด
ภาษาไทยเป็นสิ่งที่แสดงภูมิปัญญาของชนชาติไทย โดยธรรมชาติของภาษา ภาษามีการเปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ การนำภาษาไทยมาใช้ในการสื่อสารทั้งในด้านการพูด การอ่าน และ การเขียน จะต้องใช้อย่างมีวิจารณญาณ เหมาะสมกับโอกาส จะทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทักษะการฟังและการดูก็เช่นเดียวกัน ผู้รับสารก็ต้องมีวิจารณญาณในการรับสาร ส่วนวรรณคดี และวรรณกรรมพื้นบ้าน นอกจากสะท้อนภาพสังคมแล้ว ยังแสดงคุณค่าด้านคุณธรรมและวัฒนธรรมอีกด้วย
สาระการเรียนรู้
๑. ความสำคัญของรายวิชาภาษาไทยเพื่ออาชีพ ๒
๒. คำอธิบายรายวิชาภาษาไทยเพื่ออาชีพ ๒
๓. จุดประสงค์รายวิชา
๔. มาตรฐานรายวิชา
๕. การวัดผลและประเมินผล
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
๑. บอกความสำคัญของรายวิชาภาษาไทยเพื่ออาชีพ ๒ ได้
๒. บอกคำอธิบายของรายวิชาภาษาไทยเพื่ออาชีพ ๒ ได้
๓. บอกสาระการเรียนรู้รายวิชาภาษาไทยเพื่ออาชีพ ๒ ได้
๔. บอกผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง และวิธีการวัดผลประเมินผลได้
๕. มีการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ครูสามารถสังเกตเห็นได้ ในด้านความมีมนุษยสัมพันธ์ ความมีวินัย ความรับผิดชอบ ความเชื่อมั่นในตนเอง ความสนใจใฝ่รู้ ความรักสามัคคี ความกตัญญูกตเวที
กิจกรรมการเรียนการสอน
ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
๑. นักเรียนแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ ๕-๖ คน เลือกประธาน และเลขานุการกลุ่มแล้วรับเรื่อง “ความสำคัญของวิชาภาษาไทย” โดยสรุปจากมาตรฐานรายวิชา ภาษาไทยเพื่ออาชีพ ๒
๒. ให้นักเรียนอภิปรายกันภายในกลุ่ม ใช้เวลาประมาณ ๑๕-๒๐ นาที
๓. นักเรียนที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการกลุ่ม จดบันทึกผลการอภิปราย
๔. ให้ตัวแทนกลุ่มออกมาอภิปรายหน้าชั้นเรียน กลุ่มละ ๕-๑๐ นาที
๕. ครูและประธานกลุ่มประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติงานกลุ่ม จดบันทึกคะแนนไว้
๖. สรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับมาตรฐานรายวิชาอีกครั้งหนึ่ง
ขั้นสอน
๗. ให้นักเรียนทุกคนอ่านคำอธิบายรายวิชา
๘. ให้นักเรียนช่วยกันอภิปราย สาระสำคัญที่พึงจะได้เรียนรู้จากคำอภิปรายวิชา (ครูอาจจะสุ่มตัวอย่าง และให้ตอบคำถามเป็นรายบุคคล)
๙. ให้นักเรียนอภิปรายซักถามเกี่ยวกับคำอธิบายรายวิชา
๑๐. ให้นักเรียนศึกษาจุดประสงค์รายวิชาจากแผ่นใส
๑๑. ให้นักเรียนช่วยกันอภิปรายและซักถาม
๑๒. ครูแจ้งวิธีการวัดผลและประเมินผล
ขั้นสรุปและการประยุกต์
๑๓. นักเรียนทำแบบประเมินผลการเรียนรู้ก่อนเรียน ๖๐ ข้อ
๑๔. นักเรียนตรวจคำตอบด้วยตนเองจากแผ่นใส เสร็จแล้วส่งผลให้ครูผู้สอนบันทึกคะแนนไว้
สื่อการเรียนการสอน
๑. หนังสือเรียนวิชา ภาษาไทยเพื่ออาชีพ ๒ (๒๐๐๐–๑๑๐๒) ของสำนักพิมพ์เอมพันธ์
๒. แผ่นใส จุดประสงค์รายวิชา ภาษาไทยเพื่ออาชีพ ๒
การวัดผลและการประเมินผล
วิธีวัดผล
๑. สังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติงานรายบุคคล
๒ สังเกตพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม
๓. ตรวจแบบประเมินผลการเรียนรู้ก่อนเรียน
๔. การสังเกตและประเมินผลพฤติกรรมด้านคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์
เครื่องมือวัดผล
๑. แบบสังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติงานรายบุคคล (ภาคผนวก ข)
๒. แบบสังเกตพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม (ภาคผนวก ค)
๓. แบบประเมินผลการเรียนรู้ก่อนเรียนจำนวน ๖๐ ข้อ
๔. แบบประเมินคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ โดยครูและนักเรียนร่วมกันประเมิน (ภาคผนวก จ)
เกณฑ์การประเมินผล
๑. แบบสังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติงานรายบุคคล เกณฑ์ผ่าน ต้องไม่มีช่องปรับปรุง
๒. แบบสังเกตพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม เกณฑ์ผ่าน ๕๐% ขึ้นไป
๓. แบบประเมินผลการเรียนรู้ก่อนเรียน ไม่มีเกณฑ์ผ่าน เก็บคะแนนไว้เปรียบเทียบกับคะแนนแบบประเมินผลการเรียนรู้หลังเรียนในปลายภาค
๔. แบบประเมินคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ คะแนนขึ้นอยู่กับการประเมินตามสภาพจริง