10 คำถามเรื่อง 4G

เรื่อง 3 จี และ 4 จี เป็นอย่างไร ผมมักจะได้รับคำถามจากผู้อ่านบ่อยมาก บทความนี้ก็เลยจะเขียนเล่าเรื่อง 4 จี ซึ่งมีทั้งหมด 10 คำถาม อ่านแล้วน่าจะมีความรู้ไปถกเถียงพูดคุยได้เนื้อหาสาระครอบคลุมได้ดี

Image

บทความนี้ได้มาจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น สหรัฐอเมริกา ถ้าหากท่านผู้อ่านใช้มือถืออัจฉริยะในเมืองไทย แน่นอนคงจะเอาทันใจไม่ได้เพราะระบบเครือข่ายในประเทศไทยเรายังไม่ถึงรุ่น 3 หรือ 3 จีกันเลย แต่ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรป วิ่งตามหา 4 จี กันในหลายเมืองใหญ่แล้ว แต่ก็ยังมีบางค่าย เช่น เอทีแอนด์ที อยากจะทำให้ 3 จีสมบูรณ์แบบขึ้นมากกว่า เพราะ 4 จีจะต้องมีอะไรที่ต้องปรับปรุงอีกเยอะ เพราะขณะนี้ส่วนใหญ่ในหลายเมืองแม้จะมี 4 จีใช้ แต่ก็ยังเป็นการทดสอบเพื่อปรับปรุงการใช้งานไปด้วย

หนึ่ง 4 จี คืออะไร

4 จีเป็นคำเรียกทั่วไปสำหรับระบบสื่อสารโทรคมนาคมแบบเซลลูลาร์ยุคที่ 4 ซึ่งจะให้ความเร็วในการสื่อสารทุกเรื่องมากกว่าแบบ 3 จีถึง 10 เท่า นั่นก็หมายความว่าโทรศัพท์อัจฉริยะที่ใช้กันอยู่จะสามารถส่งข้อมูลได้เหมือน คอมพิวเตอร์พีซีกันเลย ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากสื่อประสมและการเล่นเกมทางอินเทอร์เน็ตได้ อย่างสะดวกสบายหลายรูปแบบชัดเจนเกือบเหมือนทีวีเลยทีเดียว

สอง 4 จี มีเทคโนโลยีอะไรบ้าง

การสร้างเทคโนโลยีเพื่อเข้าสู่ยุค 4 จี ในปัจจุบันมี 2 ค่าย คือ แอลทีอี (LTE) และไวแม็กซ์ (Wimax) เทคโนโลยีทั้งสองเป็นคนละแบบกับจีเอสเอ็มและซีดีเอ็มเอไม่เกี่ยวข้องกัน บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้การสนับสนุนเทคโนโลยี แอลทีอี คือ บริษัทเอทีแอนด์ที และบริษัทเวริซอน ส่วนไวแม็กซ์ คือ บริษัทสปริ้นท์

การสร้างเทคโนโลยีทั้งแอลทีอีและไวแม็กซ์แตกต่างกันเลยเป็นคนละมาตรฐาน ทางสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู เป็นผู้กำหนดสร้างมาตรฐานเพื่อไวแม็กซ์ โดยมีสปริ้นท์สนับสนุน ซึ่งจริง ๆ ก็คือ ส่วนหนึ่งของ 3 จีนั่นเอง

ในขณะที่เทคโนโลยีแอลทีอี นั้นมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมบรอดแบรนด์ไร้สายซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน ไอทริ้ปเปิ้ลอี (IEEE) ไวแม็กซ์จะต้องมีการสร้างเครือข่ายใหม่ ส่วนแอลทีอี สามารถต่อยอดจากเครือข่าย 3 จี ของซีดีเอ็มเอ/เอ็ชเอสพีเอ-CDMA/HSPA ได้

สาม 4 จี เร็วแค่ไหน

ในทางทฤษฎีเทคโนโลยีการสื่อสารรุ่นที่ 3 หรือ 3 จี สามารถถ่ายข้อมูลได้ 2 เมกะบิตต่อวินาที แต่ในความเป็นจริงได้ความเร็วแค่ 500 กิโลบิตต่อวินาทีจนถึง 1.5 เมกะบิตต่อวินาทีเท่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวนำสื่อ สถานที่ตั้งเสาส่งสัญญาณ ความหนาแน่นของการใช้งานและอื่น ๆ ส่วน 4 จี เล่นเกมได้เลย
ในการทดสอบปัจจุบันทั้ง แอลทีอี และไวแม็กซ์ ยังมีความเร็วยังไม่ถึงมาตรฐาน โดยเฉพาะความเร็วอยู่ในระหว่าง 2 เมกะบิตต่อวินาทีจนถึง 5 เมกะบิตต่อวินาที และการดาวน์โหลดอยู่ระหว่าง 5 เมกะบิตต่อวินาที ถึง 12 เมกะบิตต่อวินาที เพราะจินตนาการดูว่าใน เครือข่ายทั้งโลกมีอุปกรณ์นับล้าน ๆ ชิ้นที่ใช้งาน มีการโหลดวิดีโอ คลิปดัง ๆ ทุกที่ การคุยกันทาง วิดีโอ การดูภาพยนตร์ การอัพโหลดการแสดง ใหม่ ๆ สารพัดที่จะทำให้ความเร็วลดลงได้มากไม่เป็นไปตามทฤษฎี

สี่ อยากจะใช้ 4 จี หาได้ที่ไหน

ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามี 4 จี ใช้กันใน 30 เมืองใหญ่ เช่น ซีแอตเติล บัลติมอร์ ชิคาโก และดัลลัส เป็นต้นซึ่งเป็นบริการจากบริษัท สปริ้นท์ แม้ว่าเมืองขนาดใหญ่แบบ ซานฟรานซิสโก และนิวยอร์ก จะไม่อยู่ในชื่อเมืองเหล่านี้ สปริ้นท์ได้บอกว่า ปลายปีนี้ได้ใช้แน่ใน 36 เมือง ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่จะมี 4 จี ใช้ก็เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น นอร์เวย์ เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ สวีเดน อาร์เมเนียและฟินแลนด์

ห้า จะต้องมีมือถือชนิดใหม่สำหรับ 4 จีหรือไม่

แน่นอนจะต้องมีโทรศัพท์มือถือแบบอัจฉริยะ สำหรับโทรศัพท์อัจฉริยะรุ่นแรกคือ เอชทีซี อีโว (HTC EVo) ซึ่ง ทำงานโดยใช้ลักษณะการออกแบบกูเกิล ที่ ชื่อ แอนดรอยด์ (Android) หน้าจอแบบระบบสัมผัสขนาด 4.3 นิ้ว กล้อง 2 ตัว มีระบบนำทางด้วยจีพีเอส แสดงผลด้วย เอชดีเอ็มไอ (HDMI) และเป็นระบบเคลื่อนที่แบบฮอตสปอต (Hot-Spot)

สนนราคาคือประมาณ 6,500 บาท ต่อเครื่อง โดยมีสัญญาประกัน 2 ปี สปริ้นท์จะเก็บค่าบริการต่างหากอีก 320 บาทต่อเดือน รวมทั้งบริการด้านข้อมูลมาตรฐานตามรายการที่จะมีให้ด้วยระบบความเร็ว 4 จี ถ้าหากบริการที่ใช้งานมือถืออยู่ไม่มีระบบ 4 จี ก็ยังจะสามารถใช้ 3 จี ได้อยู่แล้ว ที่ประเทศเกาหลีใต้ บริษัท ซัมซุง ได้สร้างโทรศัพท์มือถือแบบ 4 จี ซึ่ง ใช้ได้เหมือนพีซี ที่เรียกว่า เมโทรพีซีส์ (Metro PCS) มีชื่อเรียกว่า เอสซีเอช-อาร์ 900 (SCH-r 900) โดยใช้โปรเซสเซอร์ความเร็ว 624 เมกะเฮิรตซ์ แรม 128 เมกะบิต จอขนาด 3.2 นิ้ว และทำงานด้วยระบบวินโดว์สโมบาย 6.1

หก ขณะนี้มีไอโฟน 3 จี ไอโฟน 3 จี กว่า ๆ จะมีโอโฟน 4 จี รุ่นต่อจากนี้ไปหรือไม่

บริษัท แอปเปิ้ล จะทำไอโฟนรุ่น 4 จี แน่นอนในระบบอัจฉริยะ แต่การเชื่อมต่อสัญญาณในเครือข่าย 4 จี นั้น ยังเป็นของบริษัท สปริ้นท์ เพราะฉะนั้นแอปเปิ้ลคงจะต้องสร้างโทรศัพท์เพื่อใช้กับสปริ้นท์โดยเฉพาะ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้

เจ็ด บริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกามีแผน 4 จี อย่างไรบ้าง

บริษัท เอทีแอนด์ที มีแผนที่จะเริ่มเครือข่าย 4 จี ในปีนี้ โดยใช้เทคโนโลยี แอลทีอี กว่าจะเริ่มใช้งานได้คงจะเป็นปีหน้า 2011 แต่คงจะต้องแก้ปัญหาในการใช้งานจริงอีกพอสมควร บริษัท เวริซอน ได้ทดสอบบริการเครือข่าย 4 จี ในเมืองบอสตัน และซีแอตเติล และมีแผนที่จะเริ่มบริการ ในเชิงพาณิชย์ในปีนี้ประมาณ 30 เมือง ซึ่งจะคลุมผู้ใช้ได้ถึง 100 ล้านคนและในปี ค.ศ. 2013 เวริซอนหวังว่าจะให้บริการ 4 จี ในเชิงพาณิชย์ได้ทั่วทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท สปริ้นท์ เป็นผู้นำ 4 จี ที่มีความพร้อมด้านเครือข่ายใน 36 หัวเมือง ในปลายปีนี้ เมืองทั้งหมดเหล่านี้จะใช้ระบบเครือข่าย 4 จี ของสปริ้นท์ บริษัท ทีโมบาย กำลังทำเรื่อง 3.5 G หรือเอชเอส พีเอพลัส (HSPA+) อยู่ ส่วน 4 จี ยังไม่คิดในขณะนี้ บริษัท เมโทรพีซี ได้ทำโทรศัพท์ 4 จี ด้วยเทคโนโลยีแอลทีอีร่วมกับ บริษัท ซัมซุง แล้วและคงจะเริ่มระบบ 4 จี ที่ลาสเวกัส ในปีนี้


คำถามที่แปด 4 จี มีประวัติความเป็นมาอย่างไร

ระบบเซลลูลาร์ ได้มีวิวัฒนาการออกมาเป็น 4 ยุคด้วยกัน ยุคแรกหรือยุคที่ หนึ่ง หรือ 1 จี เป็นเทคโนโลยี อนาล็อก (Analog) รับ-ส่งสัญญาณเสียงได้เท่านั้น

ยุค ที่ 2 หรือ 2 จี จะเริ่มเข้าสู่ยุค ดิจิทัลทำให้สามารถส่งข้อความต่าง ๆ ได้ด้วย แม้ว่าจะยังใช้โทรศัพท์มือถือด้วยสัญญาณเสียงกันอยู่ ในยุคที่ 2 นี้ โทรศัพท์มือถือมี 2 มาตรฐานคือ จีเอสเอ็ม (GSM) ซึ่งเป็นของบริษัท ที-โมบาย เอทีแอนด์ที และอีกหลายประเทศในโลก อีกมาตรฐานหนึ่งคือ ซีดีเอ็มเอ (CDMA) ซึ่งเป็นของบริษัทเวริซอนและสปรินท์ ทั้ง 2 ระบบมีความเร็วในการส่งถ่ายข้อมูลโดยเฉลี่ย 9.6 กิโลบิตต่อวินาที (Kbps) ในเครือข่ายของ 2 จี ซึ่งก็เหมือนในระบบโมเด็มต่อสาย ในช่วงปี ค.ศ. 1990-1999 นั่นเอง

ยุคที่ 2.5 หรือ 2.5 จี เกิดจากค่ายจีเอสเอ็ม สร้างมาตรฐานแบบ จีพีอาร์เอส (GPRS) ขึ้นมา ซึ่งทำให้การส่งถ่ายข้อมูลได้ดีขึ้น จีพีอาร์เอสได้วิวัฒนาการมาเป็นเครือข่ายที่เรียกว่า เอดจ์ (EDGE) ซึ่งสามารถให้ความเร็วในการส่งถ่ายข้อมูลได้ถึง 400 กิโลบิตต่อวินาที ซึ่งมือถือปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ ส่วนซีดีเอ็มเอ (CDMA) นั้นก็คือ 1 เอ็กซ์อาร์ทีที (1 XRTT) หรือ 1 เอ็กซ์ (1X) นั่นเอง แต่ในการใช้งานจริงจะเรียกว่า อีวีดีโอ (EVDO) ซึ่งมีความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลตั้งแต่ 600 กิโลบิตต่อวินาที จนถึง 1.4 เมกะบิต ต่อวินาที (Mbps)

เริ่มยุค 3 จีนั้น ก็มีการถกเถียงกันมากว่าจะต้องเป็นเทคโนโลยีอย่างไร ในที่สุดก็ใช้ความเร็วเป็นหลักคือจะต้องเป็น 2 เมกะบิต ต่อวินาที ทั้งสปรินท์และเวริซอน กำหนดว่ายุค 3 จี เป็นเทคโนโลยี อีวีดีโอ (EVDO) ส่วนเอทีแอนด์ทีและ ที-โมบายเป็นเอชเอสดีพีเอ (HSDPA) ส่วน 3 จีกว่า ๆ นั้นก็จะเป็น เอชเอสดีพีเอพลัส (HSDPA+) หรือเทอร์โบ 3 จี (Turbo 3 G) ซึ่งสามารถ ดาวน์โหลดด้วยความเร็วถึง 14 เมกะบิตต่อวินาที ต่อจากนี้ก็คือยุค 4 จี

คำถามที่เก้า อยากจะรู้ว่า 4 จี เป็นอย่างไร ใช้มาตรฐานอะไร แต่ละมาตรฐานต่างกันอย่างไร

ยุค 4 จี มีเทคโนโลยีอยู่ 2 แบบ มาตรฐานที่ใช้กันคือ แอลทีอี (LTE) หรือ Long Term Evolution ซึ่งเป็นวิวัฒนาการ ที่ถูกปรับปรุงต่อยอดขึ้นไปบนเครือข่าย อินเทอร์เน็ตจากทุกไอพี ซึ่งอยู่บนโปรโตคอล เดียวกัน หรือ เรียกว่า TCP/IP โดยกลุ่มที่เรียกว่า โครงการพันธมิตรยุคที่ 3 ส่วนอีกแบบมาตรฐาน คือ ไวแมกซ์ (Wimax) ทั้ง 2 เทคโนโลยีนี้ใช้หลักการเดียวกันคือ โอเอฟ ดีเอ็มเอ (OFDMA) ซึ่งเป็นแนวคิดทฤษฎีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 วิธีการก็คือ การแบ่งช่วงคลื่นความถี่ให้สามารถส่งสัญญาณทับซ้อนกันหลายครั้งได้ในช่วง สัญญาณเดียวกัน ซึ่งจะสามารถจุข้อมูลได้มากขึ้นทีเดียวหลายเท่าตัว เหมือนกับมีตัวนำส่งสัญญาณครั้งเดียวได้หลายตัวนำ

ไวแมกซ์ส่งข้อมูลด้วยช่องสัญญาณกว้างโดย 2 ใน 3 ใช้ดาวน์โหลด ส่วน 1 ใน 3 เป็นอัพโหลด แอลทีอีแบ่งช่องความถี่ค่อนข้างสมดุล ซึ่งทำให้ความเร็วในการอัพโหลดและดาวน์โหลดพอ ๆ กัน

คำถามที่สิบ บอกได้ไหมว่าอันไหนดีกว่ากัน ไวแมกซ์หรือ แอลทีอี

ตอบยาก ขึ้นอยู่กับว่าต้องการใช้งานอะไร ที่ไหน ถ้าหากต้องการ 4 จี ทันทีเลย อาจจะต้องใช้ไวแมกซ์ซึ่งมาตรฐานพัฒนาโดยสถาบัน IEEE และราคาถูกกว่า แต่แอลทีอี เพิ่งจะเริ่มต้นแต่รับรองได้ว่าระยะยาวในอนาคตจะเป็นแอลทีอีมากกว่าแน่

อ่านก็คงจะมีข้อมูลเพียงพอที่จะคุยเรื่อง 3 จี 4 จี ได้สมบูรณ์ทีเดียวเพราะคุยไปมาอย่างไรก็คงจะประมาณได้ 10 คำถามนี่แหละ ก็ขอให้ประเทศไทยได้ใช้ 3 จี 4 จี ได้อย่างถูกทิศทางเพราะเสริมสร้างเศรษฐกิจได้มหาศาล.

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


Paiboon

สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
คอมพิวเตอร์ธุรกิจ